เรื่อง ศศิกานต์ จรทะผา
เมื่อวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม Naked Publishing ได้จัดงาน Book Talk: คู่มือสามัญประจําเดือน หนังสือที่จะอยู่เป็นเพื่อนทั้งในวันมาน้อยและมามาก ที่ห้องประชุม Mindspace C Asean Samyan Mitrtown พวกเราได้รับเกียรติจาก คุณหมอพลอย พญ.ลักขณา จักกะพาท เจ้าของเพจ คุยเรื่องเพศ กับหมอสูติ คุณโคโค่ สิริณ รามณี นักเพศวิทยา และชวนพูดคุยโดย แม่พลอย ศิริอุดมเศรษฐ นักเพศวิทยาอีกท่าน
แม่พลอยเปิดประเด็นชวนคุยถึงความรู้สึกที่มีต่อหนังสือคู่มือสามัญประจำเดือนว่า “สิ่งที่น่าสนใจคือหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้ความรู้ เป็นคู่มืออย่างเดียว แต่ยังสอดแทรกประสบการณ์ของเด็ก ๆ ต่อเหตุการณ์ในแต่ละบท ทำให้ผู้อ่านเข้าใจ และคลายความกังวลได้ว่าไม่ได้เผชิญเรื่องราวเหล่านี้เพียงลำพัง”
“ทันทีที่ได้เห็นหน้าปกหนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาเดนมาร์กก็รู้ว่าเป็นหนังสือจากสแกนดิเนเวียแน่นอน เพราะด้วยลายเส้นและการใช้สีสันที่ไม่เกรงกลัวอะไรทั้งนั้น ทั้งการตั้งชื่อแบบแปลตรงตัวจากภาษาเดนมาร์กว่า ‘มันก็แค่เลือด’” คุณโคโค่เสริม หนึ่งในผู้ฟังยังได้แชร์มุมมองต่อภาพประกอบ ว่าสะท้อนความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ สีผิว และการแต่งกาย มีภาพประจำเดือน (ของจริง)
นอกจากนี้ “คำว่า คู่มือ เป็นเหมือนเครื่องมือ ส่วน สามัญ คือ พื้นฐาน ทั่วไป เลยคิดว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นแค่หนังสือ แต่เป็น เครื่องมือในการสื่อสารให้กับผู้คน ว่ามันคือเรื่องสามัญเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ที่มีในทุกบ้าน” คุณหมอพลอยเสริม
ต่อจากนี้ไปคือการท่องเวลา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในมุมของประจำเดือน
ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ช่วงก่อนหรือช่วงเริ่มมีประจำเดือน คิดว่ามีอุปสรรคหรือความท้าทายอะไรที่ต้องเผชิญบ้าง?
คุณหมอพลอย: ถ้าสังคมยอมรับเรื่องประจำเดือนได้ ในโฆษณาจะไม่เทด้วยน้ำสีฟ้า ด้วยค่านิยม ประจำเดือนเป็นสิ่งอัปมงคล สามารถเอาไปทำพิธีกรรมได้ สิ่งที่กดทับมาโดยตลอดเป็นเรื่องของความเชื่อล้วน ๆ เลย และมันส่งผลกระทบมาจนถึงยุคที่เราเกิดมาและมีประจำเดือนครั้งแรก แต่ของพลอยมาครั้งแรกตอนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกนอนอยู่ที่โรงพยาบาลพอดี ได้อยู่ในสถานการณ์ที่มีคนรอบตัวคอยบอกว่ามันคืออะไร แต่หลาย ๆ คนไม่ได้เป็นแบบนั้น เช่นเพื่อนที่โรงเรียน จะมีใครสักคนที่กระโปรงเปื้อนหรือเก้าอี้มีคราบเลือด แล้วจะมีสักคนเหรอที่เข้าสู่วัยรุ่นแล้วพกกระโปรงกับกางเกงในสำรองไว้เปลี่ยน มันไม่มี เพราะฉะนั้นการมีประจำเดือนครั้งแรกของหลายคนจะเหมือนเป็น ‘ฝันร้าย’ หรือบางทีเป็นปมในใจ อันนี้คืออดีตที่เรามองว่าเป็นปัญหา แล้วปัจจุบันก็ไม่มีใครสำรวจว่าโรงเรียนต่าง ๆ มีวิธีแก้ไขปัญหายังไงถ้ากระโปรงเปื้อน
คุณโคโค่: ในแง่สังคมเด็กคือ เด็กยุคนี้เข้าถึงข้อมูลได้เยอะกว่าในอดีต ในสมัยที่โค่เรียนจะเห็นเพื่อนกังวลกัน แต่สมัยนี้เด็ก ๆ ไม่กังวลเท่าสมัยก่อน เขารู้แล้วว่าเดี๋ยวจะต้องเป็นประจำเดือน แล้วจะต้องรับมือยังไง ในรุ่นเรามีเด็กบางคนที่ไม่เคยเห็นผ้าอนามัยของแม่เลย ทั้งที่ใช้แล้วและไม่ได้ใช้ เพราะแม่ซ่อนเพื่อไม่ให้พ่อหรือคนอื่นรู้ว่ามีประจำเดือน แต่เด็กยุคนี้ทุกคนเคยเห็นผ้าอนามัย รู้วิธีใส่ผ้าอนามัยเบื้องต้น รู้วิธีทิ้ง เด็กกล้าพูดมากขึ้น ในขณะที่สมัยเราจะเรียกว่า ‘ขนมปังกับน้ำแดง’ ถ้าจะพูดว่าปวดท้อง หรือเมนส์มาแล้วก็จะพูดเบา ๆ แต่ยุคนี้พูดด้วยเสียงปกติ ตะโกนขอผ้าอนามัยกับเพื่อนในห้องได้ ในแง่การรับรู้ดีขึ้นมาก เด็กผู้ชายไม่ล้อ เด็กผู้หญิงก็กล้า”
แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือ สถานศึกษาหรือที่สาธารณะยังไม่มีผ้าอนามัยให้ ราคาผ้าอนามัยก็ขึ้นเรื่อย ๆ ยังมีคนที่ต้องเลือกอยู่ว่าจะซื้อผ้าอนามัยหรือจะกินข้าว และอีกอย่างที่ยังไม่เปลี่ยนคือ ประจำเดือนยังเป็นเรื่องของผู้หญิงอยู่ ยังไม่ก้าวข้ามออกมาว่าประจำเดือนเป็นเรื่องของทุกคน และเพศหลากหลายด้วย Transwoman (หญิงข้ามเพศ) บางคนมีอาการเหมือนประจำเดือน แค่ไม่มีเลือดไหลออกมา หรือว่า Transman (ชายข้ามเพศ) ที่มีประจำเดือน สังคมก็ยังไม่ได้รวมพวกเขาอยู่ในโลกของการมีเลือดออกทุกเดือนมากขนาดนั้น เลยรู้สึกว่ามีสองสิ่งนี้ที่เรายังต้องไปต่อ
ทำไมการพูดเรื่องประจำเดือน หรือการให้หนังสือคู่มือสามัญประจำเดือนกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะอ่านให้ฟัง อ่านด้วยกัน หรือให้เด็ก ๆ อ่านด้วยตัวเองถึงสำคัญ?
คุณโค่: เราจะพูดอยู่เสมอเวลาพ่อแม่มาถามว่า ‘เพศศึกษาสอนได้ตั้งแต่เมื่อไหร่?’ ว่าสอนได้ตั้งแต่ที่เขาคุยรู้เรื่องเลย ให้เขารู้จักร่างกายตัวเอง ให้รู้ว่าเป็นร่างกายของเขา แต่พ่อแม่บางคนอาจจะยังไม่พร้อม ถ้าอย่างนั้นด่านต่อไปไม่ว่าจะเป็นลูกผู้หญิงหรือลูกผู้ชายคือ ‘การสอนเรื่องการเป็นวัยรุ่น’ ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุดของคนมีมดลูกคือประจำเดือน แล้วหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงครบเลย ทั้งเรื่องรอบเดือน การมีขน มีสิว มีหน้าอก ความหลากหลายทางเพศ การขึ้นลงของฮอร์โมน รู้สึกว่าเป็นการเปิดประตูที่ดีที่พ่อแม่จะแสดงให้ลูกรู้ว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของลูกหรือมีเรื่องลำบากใจอะไร พ่อแม่พร้อมจะไปหาความรู้มาเพื่อมาคุยกับลูก และเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก
คุณหมอพลอย: เป็นไปไม่ได้หรอกที่พ่อแม่จะมีความรู้รอบด้านไปสอนลูก แล้วไม่ใช่ว่าไม่อยากสอน แต่เราไม่รู้จะสอนยังไง ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง หรือใช้อะไร การมีเครื่องมือหรือคู่มือจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันสื่อในอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลเยอะ แต่ผู้ปกครองจะคัดกรองได้หรือเปล่า หรือจะเรียบเรียงให้เด็กเข้าใจได้ยังไง เพราะฉะนั้นในอนาคตนอกจากหนังสือเรื่องประจำเดือน พลอยก็อยากมีให้หนังสือที่เป็นเครื่องมือในเรื่องอื่น ๆ ให้พ่อแม่ใช้คุยได้
ถ้าคุณคิดว่าจะต้องใช้ชีวิตกับคนที่มีประจำเดือนก็ต้องรู้ว่าประจำเดือนคืออะไร ปฏิเสธได้ไหมว่า จะไม่ใช้ชีวิตกับคนที่มีประจำเดือนเลย ไม่ใช่แค่คู่รัก แต่รวมทั้งเพื่อน ครอบครัว ที่ทำงาน ทุกคนหลีกหนีจากคนที่มีประจำเดือนไม่ได้ ก็ต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา
เช่น คุณยอมรับได้ว่าเพื่อนลางานเพราะป่วย แต่คุณยอมรับไม่ได้ที่เพื่อนลางานเพราะเป็นประจำเดือน พลอยเลยมองว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องรู้ พลอยให้ลูกเห็นผ้าอนามัย ให้รู้ว่าการเลือกซื้อผ้าอนามัยคืออะไร ให้รู้จักมดลูก ให้รู้ว่าเลือดที่อยู่บนผ้าอนามัยไม่ได้สกปรกขนาดนั้นแต่ต้องห่อให้มิดชิด เขาก็จะมองว่าประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ
การที่จำกัดเรื่องประจำเดือนให้เป็นแค่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น เหมือนการตีกรอบความเข้าใจไม่ให้ไปถึงผู้คนอีกครึ่งหนึ่งของสังคม และเมื่อสังคมไม่เห็นความสำคัญของความรู้เกี่ยวกับประจำเดือนก็อาจส่งผลให้เกิดค่านิยมหรือความเชื่อที่เป็นอุปสรรคต่อผู้มีประจำเดือนมาถึงทุกวันนี้
นอกจากผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากค่านิยมเรื่องประจำเดือนแล้ว ผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ต้องเผชิญปัญหานี้เช่นกัน จึงมีการพูดคุยกันเรื่อง ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศกับประจำเดือนสัมพันธ์กันอย่างไร?
คุณหมอพลอย: ถ้าสังเกต พลอยจะพูดว่าคนที่มีมดลูก คนที่มีประจำเดือน ไม่ได้พูดคำว่าผู้หญิง และไม่ได้พูดในมิติว่าเขานิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มีมดลูกแปลว่าคุณมีโอกาสที่จะมีประจำเดือน เลยไม่แปลกที่จะมีคำถามว่า ‘Transman มีประจำเดือนได้ไหม’ คำตอบคือถ้าเขามีมดลูก เขาก็มีแนวโน้มที่จะมีประจำเดือน
คุณโคโค่: ความหลากหลายทางเพศกับประจำเดือน ไม่ได้มีแค่กลุ่มคนที่เกิดมามีมดลูก และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่ต้องแบกความงุ่มง่ามไว้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัญหา เช่น พอให้ประจำเดือนเป็นเรื่องของผู้หญิง เวลาสอนแยกผู้ชายออกมาก็เป็นการตัดความหลากหลายออกไปหนึ่งขั้นจากระบบสองเพศ หรือเมื่อพูดในมุมที่ออกจากระบบสองเพศ บางทีคนเป็น Non-binary มีปัญหาเรื่องประจำเดือนและไปพบสูตินรีแพทย์ แล้วเจอป้าย ‘ผู้หญิงเท่านั้น ญาติกรุณารอด้านนอก’ เราก็จะคิดว่า ‘ต้องเดินออกมั้ย แต่ไม่ได้ เราเป็นคนไข้ เราก็ต้องเดินเข้าไปสิ
จะเห็นว่าเรื่องประจำเดือนกับความหลากหลายทางเพศมันเป็นทั้งระบบ ตลอดทั้งชีวิตของเราเลยว่า เราโตมาถูกกดดันว่าเดี๋ยวจะมีประจำเดือน พอมาถึงจุดหนึ่งก็จะถูกกดดันว่าต้องมีลูก ถ้านิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิง และหน้าที่ของผู้หญิงถูกผูกไว้กับการมีประจำเดือนและมีมดลูก ถ้าวันหนึ่งมดลูกมีปัญหา ทำให้มีประจำเดือนไม่ได้ และมีลูกไม่ได้ ก็เกิดความเสียใจอีก เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วอย่างที่หนึ่งคือ
เราไม่ควรผูกประจำเดือนไว้กับเพศใดเพศหนึ่ง สองคือ ให้ทุกคนรู้ว่าประจำเดือนเป็นแค่การทำงานของร่างกาย ในคนที่เกิดมามีร่างกายแบบนี้ ไม่ได้ผูกไว้กับหน้าที่ในชีวิต เช่น ต้องมีลูก
ค่านิยมที่ผูกการมีมดลูก ไว้กับการต้องมีลูก เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ผู้มีประจำเดือนกำลังแบกเอาไว้
คุณหมอพลอยเสริมว่า นอกจากความคิดว่าการมีมดลูกเพราะเอาไว้มีลูก ยังมีมากกว่านั้นคือความคิดที่ว่า การมีมดลูกคือเครื่องยืนยันความเป็นสตรี ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าตัดมดลูก เพราะกลัวว่าจะสูญเสียความเป็นหญิงไป เช่นเดียวกับคำว่าประจำเดือน บางคนคิดว่าประจำเดือนจะต้องมาทุกเดือน เพราะพูดคำว่า ‘ประจำเดือน’ เพราะฉะนั้นเวลาหมอแจ้งว่า ‘คุณจะไม่มีประจำเดือนนะ เพราะไม่มีการตกไข่’ เขาก็จะไม่โอเคเพราะเขาต้องการมีประจำเดือน หรือมีบางเคสที่ฝังยาคุมกำเนิด แต่บอกหมอว่าให้มีประจำเดือนทุกเดือนได้ไหม เพราะการมีประจำเดือนทุกเดือนแปลว่าร่างกายแข็งแรง ซึ่งเหมือนจะเข้าใจ แต่ไม่ได้เข้าใจเลย เพราะฉะนั้นการเข้าใจเรื่องประจำเดือน จึงเป็นมากกว่าการรู้ว่าเดี๋ยวจะมีเลือดออกมาทุกเดือนนะ
การลบค่านิยมที่กดทับผู้มีประจำเดือนอยู่ จึงต้องเข้าใจในความหลากหลาย และต้องเข้าใจการทำงานของร่างกายในองค์รวมด้วย
ในฐานะที่ทั้งสองท่านเป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีอะไรจะฝากถึงเด็กในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นลูก ๆ หลาน ๆ ที่กำลังจะมีประจำเดือน หรือคนที่ทำงานสื่อสารเรื่องเพศให้เด็ก ๆ ไหม
คุณหมอพลอย: ใครก็ตามที่ไม่รู้ว่าประจำเดือนคืออะไร ไม่รู้จะจัดการกับประจำเดือนอย่างไร ไม่รู้ว่าอะไรปกติ อะไรผิดปกติ ปัญหานี้แก้ด้วยความรู้ พอรู้แล้วจึงจะแก้ได้ จุดเริ่มต้นคือการหาความรู้ อนาคตจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่หาความรู้เกี่ยวกับประจำเดือนก็ไม่มีทางเข้าใจ
คุณโคโค่: นอกเหนือจากสิ่งที่คุณหมอพลอยพูดไปแล้ว อีกอย่างที่ใหญ่มากในสังคม และทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขคือ อคติที่มีต่อเพศหญิงและร่างกายของเพศหญิง ทั้งเรื่องหน้าอก จิ๋ม มดลูก รังไข่ รวมถึงเลือดประจำเดือน นอกจากมีความรู้แล้ว จะเอาไปใช้ทำอะไรต่อก็สำคัญ จะเอาไปใช้กดทับคนอื่นต่อ หรือจะช่วยกันว่า เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องไปเหยียดหยามใคร
ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนมักเกิดจากความไม่รู้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ความรู้ หากเราเข้าใจประจำเดือนแล้วก็สามารถบอกคนอื่น ๆ ต่อได้ว่ามันเป็นอย่างไร ผ่านการพูดคุยให้มากขึ้นจนมันเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างแท้จริง แต่ความรู้ในหนังสือ คู่มือสามัญประจำเดือน ไปจนถึงบทสนทนาทั้งหมด หรือเหตุการณ์รอบข้างเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนคงไม่เกิดผลอะไร หากคนในสังคมไม่ตระหนักว่า การมีความรู้และความเข้าใจเรื่องประจำเดือนเป็นสิ่งสำคัญและเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม