เรื่อง: สายฝัน สวาดดี
จุดเริ่มต้นของหนังสือภาพ แม่มดน้อยมาดาลินกับเศษผ้ากระจิ๋วหลิว เกิดจากความตั้งใจที่จะสื่อสารถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก fast fashion หรือแฟชั่นด่วน ครูแจนแจน ผู้เขียน สร้างสรรค์หนังสือเล่มนี้ร่วมกับ ลิตเติ้ล ซิสเตอร์ (Little Sister) แบรนด์เสื้อผ้าเด็กที่นำผ้าที่เหลือใช้จากการตัดเย็บมาแปลงโฉมให้เป็นตุ๊กตาและเสื้อผ้าตัวใหม่ที่สวยงาม เพื่อลด “ขยะ” ที่เกิดจากการผลิตเสื้อผ้า
อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าที่มาไวไปไว ทิ้งปัญหาไว้แก่โลกอย่างยาวนาน และเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากถึง 8-10% ของการปล่อยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ทั่วโลก และปล่อยน้ำเสียมากถึง 20% จากปริมาณน้ำเสียทั่วโลก ไม่ใช่แค่ขั้นตอนการผลิตเท่านั้นที่สร้างความเสียหายแก่โลก แต่รวมไปถึงวิถีการบริโภคของ fast fashion ก็สร้างขยะจำนวนมากเช่นกัน เพราะวงจรของ fast fashion สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์แฟชั่น ณ ขณะนั้น และเป็นการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ บวกกับผู้บริโภคที่ใส่เสื้อผ้าตามกระแสแค่ไม่กี่ครั้ง แล้วเลิกใส่ไป นำไปบริจาค หรือขายต่อแทน
ฟังดูแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ได้ใส่แล้วก็นำไปบริจาค แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสื้อผ้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือสามารถขายเป็นเสื้อผ้ามือสองได้นั้นมีแค่ประมาณ 10 – 30% บางส่วนก็ถูกนำไป downcycle กลายเป็นผ้าเช็ดทำความสะอาด ส่วนที่เหลือถูกส่งออกไปเป็นเสื้อผ้ามือสองที่ภูมิภาคตะวันออก ตะวันตกของแอฟริกา และยุโรปตะวันออก
ถึงจะบอกว่าส่งออกไปเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่ในความเป็นจริงแล้วเสื้อผ้าพวกนั้นประกอบไปด้วยพลาสติก และมีคุณภาพต่ำจนต้องทิ้ง หรือไม่ก็นำไปเป็นเชื้อเพลิงแทน ไม่สามารถนำมาเป็นเสื้อผ้ามือสองได้ ก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาล จนถึงขั้นมีบ่อขยะสำหรับสิ่งทอโดยเฉพาะเลยทีเดียว เช่น บ่อขยะสิ่งทอและพลาสติกดันโดรา ในเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ที่มีขยะสิ่งทอส่งมาจากประเทศอังกฤษมากถึง 36,640,890 ชิ้นต่อปี
ในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับมลพิษทางขยะ หรือขยะล้นโลก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ อย่างการแปลงโฉมของเหลือใช้ให้เป็นของชิ้นใหม่ (upcycling) แบบที่แม่มดน้อยมาดาลินกับผู้ช่วยตัวจิ๋วช่วยกันเปลี่ยนเศษผ้ากระจิวหลิวให้กลายเป็นตุ๊กตา หรือ การยืดอายุการใช้งานของที่เราใช้ (แทนการเปลี่ยนบ่อยๆ ตามกระแส) จะช่วยลดขยะและการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย อย่าลืมรักษ์โลกของเรากันนะ
แหล่งข้อมูล:
เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา, From Waste to Worth ป้ายยาสินค้า Upcycled จาก 10 แบรนด์ไทย ตั้งแต่แว่นตาจากขวดพลาสติก เสื้อจากผ้าห่ม กระเป๋าจากเนกไท จนไปถึงร้องเท้าจากเปลือกผลไม้, สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2567, จาก https://readthecloud.co/upcycled-fashion-products/
Office of Knowledge Management and Development, Upcycle เทรนด์ใหม่ของคนสายกรีน, สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2567, จาก https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4396/
Pat Phanunan, ‘แฟชั่นหมุนเวียน’ ทางออกวิกฤต Fast Fashion, สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2567, จาก https://workpointtoday.com/แฟชั่นหมุนเวียน-ทางออ/
Viola Wohlgemuth, ประเทศในซีกโลกใต้กำลังเจอปัญหา ‘ขยะสิ่งทอ’ ผลกระทบจากอุตสาหกรรม Fast Fashion, สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2567, จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/23608/plastic-over-consumption-global-south-textile-waste/