เรื่อง: สราลี อุรุพงศา
แป๋ม กนกมาศ มัทนารมยกิจ หรือ Kiasmatt เป็นวิศวกรกระดาษ (Paper Engineer) คนสำคัญที่มาสานฝันให้กล้วยเท้าเปล่าได้มีป๊อปอัพคุณภาพดีในหนังสือภาพ ‘นกฮูกที่ไม่เคยบิน’ และถึงแม้จะเป็นเพียงหน้าสุดท้าย แต่ก็เป็นหน้าไคลแมกซ์สำคัญของเรื่อง
อันที่จริง เรื่องราวของ ‘นกฮูกที่ไม่เคยบิน’ ดูจะคล้ายคลึงกับเรื่องราวของวิศวกรกระดาษอย่างกนกมาศอย่างน่าประหลาดใจ
ย้อนกลับไปราว 20 กว่าปี เด็กหญิงกนกมาศในวัยเด็กชอบทำการ์ด พับกระดาษให้เพื่อนๆ มาก แต่ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไร รู้แต่ว่า ‘ชอบที่จะทำ’ พอโตขึ้นมา กนกมาศจับพัดจับผลูเข้าเรียนด้านศึกษาศาสตร์ เอกชีววิทยา เรียนไปก็พับโคมไฟระย้ากระดาษห้อยตกแต่งห้องไป ทำการ์ดป๊อปอัพให้เพื่อนไป ตอนนั้นเธอไม่ได้คิดว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะเป็นอาชีพได้
ใช่แล้ว กนกมาศไม่รู้ว่ามีอาชีพ ‘วิศวกรกระดาษ’ อยู่บนโลกจนเธออายุได้ 28 ปี (อันที่จริง น่าจะมีอีกหลายคนอยู่หรอกที่ไม่รู้จักอาชีพนี้) เมื่อทราบว่ามีบริษัทที่ผลิตหนังสือป๊อปอัพในประเทศไทย ตอนนั้นเอง กนกมาศค้นพบว่าเธอสามารถใช้ทักษะการพับกระดาษที่มีเพื่อทำเป็นอาชีพได้ (แบบที่เจ้านกฮูกที่ไม่เคยบินค้นพบท้องฟ้าที่กว้างใหญ่นั่นแหละ) จึงเข้าไปสมัครงานที่นั่นและได้เรียนรู้จากศิลปินอื่นๆ มากมาย “เราถือว่าที่นี่เป็นครูของเราเลย ได้ฝึกทำและได้คำแนะนำจากพี่ฝ่ายผลิตที่บริษัท” กนกมาศกล่าวถึงบริษัทแรกที่เธอทำงานด้วย ในขณะเดียวกันกนกมาศยังขวนขวายเรียนรู้โลกอันกว้างใหญ่ของกลไกกระดาษกับนักออกแบบกลไกกระดาษแถวหน้าของประเทศไทย จนได้จัดแสดงงานป๊อปอัพชิ้นแรกของตัวเองร่วมกับกลุ่มนักออกแบบกราฟฟิกเมื่อตอนอายุ 30 ต้นๆ
วันนี้กนกมาศได้เป็นวิศวกรกระดาษเต็มตัวแล้ว “หนทางที่เราเดินทางในตอนนั้นมันค่อนข้างรกร้าง พอทำเป็นอาชีพมันค่อนข้างยากเพราะเป็นสายงานที่ไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรในประเทศไทย ต้องไปขวนขวายเองทั้งหมด” กนกมาศเล่า “การทำงานส่วนใหญ่มักจะเป็นการทำการ์ดป๊อปอัพ หรือจัดเวิร์คช็อปสอนทำป๊อปอัพซะมากกว่า ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ
ป๊อปอัพในหนังสือเท่าไร อาจเป็นเพราะการทำหนังสือป๊อปอัพมีความซับซ้อนและต้นทุนการผลิตที่สูง สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยทำกัน” การได้เข้าร่วมสร้างสรรค์งานหนังสือ ‘นกฮูกที่ไม่เคยบิน’ จึงเป็นเรื่องที่ทำให้กนกมาศยิ้มแก้มปริ
“เราดีใจมากเลยนะที่ได้ทำหนังสือเล่มนี้ เคยเห็นหนังสือเด็กป๊อปอัพบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะเก่าแล้ว และเป็นลักษณะ Push up ง่ายๆ หรือไม่ก็เป็นหนังสือแปล เพราะต้นทุนการทำหนังสือป๊อปอัพมันสูงมาก ดีใจที่มีสำนักพิมพ์ไทยทำเองแล้วก็เป็นหนังสือเด็กด้วย”
สำหรับหนังสือ ‘นกฮูกที่ไม่เคยบิน’ กนกมาศเลือกใช้เทคนิคกลไกกระดาษสามมิติ Angle fold และ Parallel fold ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้นกฮูกกางและขยับปีกได้ราวกับมีชีวิต นอกจากคาดหวังให้เด็กๆ ชอบหนังสือเล่มนี้แล้ว กนกมาศยังแอบหวังเล็กๆ ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักอาชีพวิศวกรกระดาษ และได้รู้ว่ามีคนที่สามารถประกอบอาชีพนี้ได้จริง “เราอยากให้เด็กๆ มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ชอบ และกล้าที่จะเรียนรู้ทดลองสิ่งใหม่ๆ” โดยไม่ต้องรอนานกว่า 20 ปีเหมือนตัวเธอ