เรื่อง: อริษา อุรุพงศา
หนึ่งในความตั้งใจของทีมกล้วยเท้าเปล่า คือการสร้างหนังสือภาพตลกๆ ส่งตรงถึงมือเด็ก
ทำไมต้องตลกนะเหรอ ก็เพราะว่าใครๆ ก็ชอบหัวเราะกันทั้งนั้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีเรื่องสนุกๆ หรือเสียงหัวเราะดูสิ…โอ้ ไม่นะ T_T
บางคนอาจมองว่าการอ่านหนังสือตลกโปกฮา นั้นช่างไร้สาระ ไม่มีประโยชน์อะไร ได้แค่สนุกไปวันๆ สู้เอาเวลาไปท่องสูตรคูณ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ หรือเรียนเปียโนดีกว่าไหม เรื่องนี้ทีมกทป. ขอเถียงหัวชนฝาและขอยืนยันด้วยเท้าเปล่าๆ ว่า การอ่านหนังสือตลกโปกฮา มีประโยชน์ไม่ต่างจากกิจกรรมอื่นๆ ที่กล่าวมาเลย ไม่ว่าจะเป็นในด้านวิชาการ สังคม ทักษะการคิด และที่สำคัญด้านอารมณ์และจิตใจ
วันนี้ทีมกทป. รวบรวมข้อดีส่วนหนึ่งของความตลกมาไว้ด้วยกัน 4 ข้อ
- หนังสือตลกๆ ช่วยให้เด็กๆ ตกหลุมรักหนังสือ: มีงานวิจัยพบว่าหนังสือตลกๆ สร้างประสบการณ์และทัศนคติที่ดีต่อหนังสือให้กับเด็ก อีกทั้งยังเพิ่มแรงจูงใจการอ่านหนังสือ นอกจากนั้นยังช่วยให้เด็กที่เพิ่งเริ่มอ่านหรือขาดความมั่นใจในการอ่านรู้สึกเพลิดเพลินกับหนังสืออีกด้วย และพวกเราหวังว่าความเพลิดเพลินนี้เองที่อาจเติบโตไปเป็นความรักในการอ่าน
- ความตลกช่วยสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก: นอกจากสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อหนังสือแล้ว การได้อ่านเรื่องตลกๆ ยังได้ช่วยสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกกับคนที่อ่านด้วยกันอีกด้วย ลองคิดถึงเวลาที่เราได้หัวเราะคิกคักไปพร้อมๆ กับใครสักคนสิ ความรู้สึกที่มีกับคนๆ นั้นมันแน่นแฟ้นและชื่นมื่นแค่ไหน
- ความตลกช่วยส่งเสริมความสร้างสรรค์: มีงานวิจัยจำนวนมากชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘ความฮา’ นั้นมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับ ‘ความสร้างสรรค์’ และ ‘อารมณ์ขัน’ ก็มักจะเป็นคุณลักษณะอันดับต้นๆ ในบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์
- เสียงหัวเราะช่วยรับมือกับเรื่องที่ท้าทาย: ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องตลกๆ ยังช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้หรือพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวอันโหดร้ายของโลกในแบบบรรยากาศที่เป็นมิตร รวมทั้งช่วยให้เด็กๆ จัดการกับความรู้สึกแปลกแยกได้ดีขึ้น เพราะตัวละครในนิทานตลกๆ สักเรื่องมักจะแตกต่างจากบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวัง ดังที่ เคที่ เบอร์ชิลล์ นักเขียนหนังสือเด็กชาวอังกฤษ ที่เคยประสบปัญหาการเข้ากับเพื่อนสมัยเรียน กล่าวไว้ว่า
เวลาที่ฉันอ่านเรื่องขำๆ ความรู้สึกแปลกแยกแตกต่างก็น้อยลง ชีวิตก็ดูมีสีสันขึ้นมาทันที มันมีความหมายมากสำหรับฉัน
Katy Birchill ใน www.booktrust.org.uk
ว่าแล้วอย่ารีรอ ลองหาหนังสือตลกๆ สักเล่มอ่านกับลูกๆ ดู ถ้าคิดไม่ออกว่าจะอ่านเล่มไหนดีให้ขำกันทั้งครอบครัว เลือกหนังสือตลกๆ ที่คัดสรรมาแล้วได้ที่ Barefoot Banana Onlinestore
บรรณานุกรม
Maslow, A. (1954). Motivation and personality. New York: Harper.
Roberts, P. (1997). Taking humor seriously in children’s literature: literature-based mini- units and humorous books for children ages 5-12. London: Scarecrow Press.
Wanzer, M.B., Frymier, A.B.,Wojtaszczyk, A.M. & Smith, T. (2006). Appropriate and inappropriate uses of humor by teachers. Communication Education, 55, 178-196.
Weems, S. (2014). Ha! The science of when we laugh and why. New York, NY: Basic Books.
Ziv, A. (1989). Using humor to develop creative thinking. In P.E. McGhee (Eds.), Humor and Children’s Development: A Guide to Practical Applications. New York: Haworth Press.
https://www.booktrust.org.uk/news-and-features/features/2019/october/the-importance-of-funny-stories-why-kids-need-books-that-make-them-laugh/