อ่านนิทานเศร้าๆ ให้ลูกฟังจะดีไหมนะ

วันก่อนได้ฟังคุณจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ และแม่ตุ๊ก Little Monster Live คุยกันเกี่ยวกับหนังสือเด็ก แล้วเห็นแม่ตุ๊กหยิบหนังสือ Best seller ของร้าน Barefoot Banana Bookstore ชื่อว่า The Lion and the Bird* โดย มาคิอาน ดูบุค ขึ้นมาแชร์ เรื่องราวน่าประทับใจ ทำให้กทป.กลับไปคิดต่อจนต้องมาเขียนเล่าให้ทุกคนฟัง 

ในช่วงโชว์นิทานเล่มโปรด แม่ตุ๊กหยิบหนังสือเรื่อง ‘The Lion and the Bird’ ขึ้นมา แล้วเล่าว่าเรนนี่เลือกหนังสือนี้เป็นหนังสือเล่มโปรดเอง “เล่มนี้พอเปิดไปเรื่อยๆ จะมีช่วงที่เค้า(เรนนี่)ร้องไห้ มีช่วงโมเม้นท์เศร้า”

หน้าที่ทำให้ทั้งเรนนี่และแม่ตุ๊กต้องน้ำตาตก เป็นหน้าที่สิงโตและนกต้องลาจากกัน…ภาพหน้าคู่ที่สิงโตยืนอยู่ตามลำพังมองนกที่กำลังบินจากไปด้านหลังเป็นฉากว่างเปล่า ช่างดูโดดเดี่ยว วังเวงเหลือเกิน…

ภาพจาก The Lion and the Bird by Marianne Debuc

ผู้ปกครองบางคนได้ยินแล้วอาจรู้สึกว่า “นิทานเศร้าจัง” หรือไม่ก็อาจมีคำถามขึ้นมาว่า “อ่านนิทานเศร้าๆ ให้เด็กฟังจะดีหรือ” 

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ถึงแม้กทป.จะเป็นสำนักพิมพ์ที่อุทิศตนให้กับหนังสือขำๆ แต่นั่นมิได้ทำให้พวกเราอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับหนังสือเศร้าแม้แต่น้อย ที่สำคัญการที่เรนนี่เลือกหนังสือ ‘The Lion and the Bird’ ให้เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดก็สะท้อนให้เห็นว่า อันที่จริงเด็กๆ ก็สามารถเพลิดเพลินและซาบซึ้งไปกับเรื่องราวของนิทานเศร้าๆ ได้เช่นกัน และนั่นคือความมหัศจรรย์ของการเล่าเรื่องของหนังสือภาพชั้นดี

วันนี้ กทป.จึงขอมาเล่าเหตุผลว่าทำไมชาวกล้วยอย่างพวกเราจึงอยากเชิญชวนผู้ปกครองหยิบนิทานเศร้าๆ สักเล่มมาอ่านให้ลูกฟัง

  1. นิทานเศร้าๆ ช่วยเตรียมตัวลูกให้รับมือกับความรู้สึกก่อนที่พวกเขาจะพบเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง หรือจะเรียกว่าเป็นแบบฝึกหัดรับมือกับความเศร้าก็ได้นะ ในหนังสือ ‘The Lion and the Bird’ สิงโตและนกต่างมีความสุขกับการอยู่ร่วมกัน แต่แล้ววันหนึ่งทั้งคู่จำต้องแยกจากกัน ด้วยเหตุผลจำเป็น อันที่จริงการแยกจากกันเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเด็กเลย เพราะเมื่อวันหนึ่งพวกเขาต้องไปโรงเรียน วันนั้นลูกจะต้องแยกจากคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน หรือวันหนึ่งเพื่อนที่ลูกชอบเล่นด้วยที่สุดอาจจะต้องย้ายโรงเรียน การได้เห็นการจากลาผ่านหนังสือจึงเสมือนการเตรียมตัวให้ลูกก่อนถึงวันที่พวกเขาจะเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันด้วยตัวเอง
  1. นิทานเศร้าๆ ช่วยให้ลูกรับรู้ว่าเขาไม่ได้อยู่ตามลำพัง แต่ยังมีใครสักคน (หรือหลายๆ คน) ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขาในยามที่เขากำลังกลัว กังวล รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเองในพื้นที่ที่ปลอดภัย
  1. นิทานเศร้าๆ ช่วยพัฒนาความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy) นิทานเป็นเครื่องมืออัน แสนชาญฉลาดที่จะนำพาเด็กๆ ออกจากศูนย์กลางโลก(ของตัวเอง) ได้อย่างละมุนละม่อม ช่วยให้พวกเขาได้เห็นความยากลำบาก ความโศกเศร้าของผู้อื่น และเรื่องราวที่เป็นนามธรรมได้อย่างชัดเจน รวมถึงเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้มีบทสนทนา ร่วมกับลูกในเรื่องที่ยากที่จะอธิบาย และเมื่อเด็กๆ ได้เข้าใจความรู้สึก และความยากลำบากของผู้อื่นแล้ว เขาก็อาจจะมองเห็นคุณค่าของผู้คนรอบตัวมากขึ้น 
  1. นิทานเศร้าๆ ช่วยสะท้อนให้เห็นความอยุติธรรม (และความยุติธรรม) ได้อย่างชัดเจน ดังเช่นใน หนังสือเรื่อง “ทำไม” โดย นิโกไล พอพอฟ ที่ฉายภาพสงครามออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม สื่อสารให้เด็กๆ (และผู้ใหญ่) ได้เห็นว่าสงครามเป็นเรื่องไร้สาระเพียงใด และเหตุที่ทุกคนต้องหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุผลดีๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จะหยิบนิทานเศร้าๆ ที่เหมาะกับลูกสักเล่มขึ้นมาอ่านด้วยกัน 

สามารถชม Live ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/momdays.twentyfourseven/videos/519801269597753 

*ข้อสังเกต: หนังสือนิทานของมาคิอาน ดูบุค ได้รับการนำมาแปลและตีพิมพ์ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย แต่หนังสือ “The Lion and the Bird” กลับยังไม่ได้รับเลือกให้นำมาแปล

Leave a Reply

en_USEnglish