เลือกหนังสือให้ลูกสักเล่มควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

เรื่องและภาพ: ทีมกล้วย

หลายคนอาจมีคำถามว่า เลือกหนังสือภาพดีๆ ให้ลูกสักเล่มต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

หนังสือก็เหมือนภาพยนตร์หรืออาหารที่แต่ละคนมีมาตรฐานและความชอบที่ต่างกัน เราเลยต้องมีรางวัลคานส์  ออสการ์หรือมิชลิน ที่เข้ามาตั้งมาตรฐานเพื่อระบุว่าภาพยนต์เรื่องไหนยอดเยี่ยมอาหารร้านไหนรสเลิศ หนังสือภาพสำหรับเด็กก็มีมาตรฐานที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันเช่นกัน ทั่วโลกจึงมีการประกวดและให้รางวัลกับหนังสือที่ดีทุกปี ดังเช่น รางวัล Newbery medal ที่เป็นรางวัลสำหรับหนังสือเด็กที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง

สำหรับที่สำนักพิมพ์กล้วยเท้าเปล่า (กทป.) เวลาที่เราพูดถึงหนังสือภาพที่ดี เราหมายถึง 

“หนังสือภาพที่มี เนื้อเรื่อง ภาษา ภาพประกอบและรูปเล่มที่ได้รับการออกแบบอย่างละเมียดละไมเพื่อสร้างประสบการณ์การอ่านเชิงบวกให้กับเด็ก (และอาจรวมไปถึงผู้ใหญ่ด้วย!)” 

หนังสือภาพที่ดี คือ

“หนังสือภาพที่มี เนื้อเรื่อง ภาษา ภาพประกอบและรูปเล่มที่ได้รับการออกแบบอย่างละเมียดละไม เพื่อสร้างประสบการณ์การอ่านเชิงบวกให้กับเด็ก”

ลองมาดูองค์ประกอบกว้างๆ ที่ทีมกล้วยคำนึงถึงทุกครั้งที่สร้างหนังสือภาพขึ้นมาสักเล่ม คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้องค์ประกอบเหล่านี้มาเลือกหนังสือภาพให้ลูกสักเล่มได้เช่นกัน:

  1. เนื้อเรื่อง: สำหรับเด็กๆ แล้วเนื้อเรื่องที่ดีต้องสนุก น่าติดตาม ยิ่งถ้าตลกด้วยยิ่งดี (รู้หรือไม่ เด็กเล็กๆ มักจะเลือกหนังสือตลกและมีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 3 เท่า) เพราะการอ่านหนังสือสักเล่มบางครั้งก็เพียงเพื่อความเพลิดเพลิน และหลายๆ ครั้งการเปิดอ่านหนังสือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ตั้งคำถาม คิดจินตนาการ หรือเชื่อมโยงต่อยอดประสบการณ์เดิมของตนเอง เนื้อเรื่องที่ดีไม่จำเป็นต้องจบด้วยข้อคิดคำสั่งสอนเสมอไป กลับกันเนื้อเรื่องที่ดีควรเปิดพื้นที่สำหรับจินตนาการและบทสนทนาร่วมกัน 

2. ภาพประกอบ: ภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถอ่านคำหรือข้อความได้ ภาพประกอบจึงต้องสวยงาม น่าดึงดูด ภาพประกอบที่ดีในหนังสือภาพเด็กบางครั้งไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะชั้นยอดชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากนั้นภาพที่ดีต้องบอกเรื่องราวและทำงานร่วมกับเนื้อเรื่องอย่างแนบแน่นแยกออกจากกันไม่ได้ ไม่ว่าภาพนั้นๆ กำลังบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อความหรือขัดแย้งก็ตาม 

3. รูปเล่ม: ปกแข็ง ปกอ่อน หนังสือผ้า หรือว่าบอร์ดบุคดีนะ แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกเวลาเลือกหนังสือให้เด็กเล็กๆ คือความปลอดภัย สำหรับเด็กทารกหนังสือผ้าและหนังสือบอร์ดบุ๊คที่ไม่มีชิ้นส่วนที่แหลมคมอย่างไส้แม็ค ที่มักพบในหนังสือที่ใช้การเย็บเล่มแบบที่เรียกว่า “มุงหลังคา” (เย็บแม็คตรงกลางเล่ม) น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการหยิบจับงับกัดแทะ นอกจากความปลอดภัยแล้วขนาดของหนังสือก็มีผลต่อคุณภาพการอ่านเช่นกัน หนังสือขนาดเล็กอาจเหมาะสำหรับการเปิดหยิบจับด้วยมือน้อยๆ แต่อาจจะยากต่อการเปิดอ่านด้วยกัน หรือยิ่งถ้ามีเด็กๆ ที่อ่าน/ฟังมากกว่าหนึ่งคน หนังสือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอาจเป็นตัวเลือกที่ดี

4. การใช้ภาษา:  “อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก” โปรดลองหยิบมาเปิดอ่านดูก่อนหรือยิ่งถ้าได้ลองอ่านออกเสียงเบาๆ ก่อนได้ยิ่งดี จะได้รู้ว่าเวลาอ่านออกเสียงแล้วลื่นไหลแค่ไหน ได้ยินแล้วติดหูน่าฟังหรือเปล่า หนังสือภาพบางเล่มมีข้อความที่จดจำง่ายและน่าจดจำทำให้เด็กๆ อยากฟังข้อความคุ้นหูเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ในหนังสือภาพสำหรับเด็กไม่จำเป็นที่จะต้องมีแค่คำศัพท์ง่ายๆ ที่พบในชีวิตประจำวัน (ในกรณีที่ไม่ใช่หนังสือฝึกอ่าน) แต่ที่สำคัญคือต้องสื่อสารได้ชัดเจน บ่อยครั้งเด็กๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ยากหรือคำศัพท์ใหม่ๆ จากการอ่านหรือฟังนิทานสักเรื่องนี่แหละ

5. ประสบการณ์การอ่าน: ประสบการณ์และการตอบสนองของเด็กแต่ละคนที่มีต่อหนังสือแต่ละเล่ม “แตกต่าง” กันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ประสบการณ์ ความสนใจ หรือความชอบส่วนตัว หนังสือที่อาจได้รับการรีวิวจากบล็อคเกอร์ช่ือดังหรือได้รางวัลการันตี ไม่ได้หมายความว่าจะถูกใจหรือเหมาะกับลูกเสมอไป บางครั้งการเปิดโอกาสให้ลูกเป็นคนเลือกหนังสือด้วยตัวเองอาจเป็นการเลือกหนังสือที่สร้างประสบการณ์การอ่านที่ดีที่สุดให้กับลูกก็ได้ อย่างไรก็ดี นอกจากคำนึงถึงความสนใจและความชอบของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมความชอบของตัวเองด้วย เพราะเรื่องที่เราชอบมักจะเล่าได้สนุกกว่าเรื่องที่เราไม่ชอบอยู่แล้ว 

Leave a Reply

en_USEnglish